วันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

บทความที่ 9  



ถ้าเสียงไม่เพราะเลยเสียงเหมือนเป็ดแหบมากจะฝึกร้องเพลงได้หรือเปล่า

ได้สิคะแต่เราไม่สามารถเปลี่ยนเสียงให้เป็นไม่แหบนั้นไม่ได้ค่ะแต่สามารถร้องเพลงทั้งที่เสียงแหบเสียงเป็ดได้แต่ร้องได้ถูกโน๊ตและแม่นยำ จังหวะตรงแม่นยำและฟิลลิ่งดีไพเราะได้ด้วยความทำความเข้าใจศิลปะการร้องเพลงให้ถูกทาง ถึงเสียงจะแหบ (โดยกำเนิด) ก็ร้องเพลงได้นะคะแต่ขอให้ถูกโน๊ตจังหวะฟิลลิ่งดีก็ไพเราะแล้วนะ ส่วนคนที่แหบเพราะเส้นเสียงอักเสบนั้น ต้องรักษาให้หายดีก่อนค่อยมาเรียนจะดีกว่าเพราะไม่เช่นนั้นปัญหาจะเรื้อรังไปกันใหญ่ค่ะ








บางคนมีปัญหาหนักมากกว่าเสียงแหบนั่นคือ เพี้ยนจัด คร่อมจังหวะมาก พูดไม่ชัด พูดตะกุกตะกัก เรียกว่ามีปัญหาทางบุคลิกภาพนั่นเอง ครูปอยเคยสอนและได้ผลดีขึ้นแต่ใช้เวลามากหน่อยประมาณ 6 คอร์สเรียกว่าตอนสอนนั้นไมเกรนขึ้นเลยทีเดียวแต่เมื่อนักเรียนตั้งใจเรียนเราก็ไม่สามารถจะทิ้งเด็กที่มีความตั้งใจสูงแบบนั้นได้ เมื่อเรียนไปก็ยิ่งทำให้ประทับใจว่าเขาพยายามทำไมเราจะไม่พยายามล่ะจากการเห็นใจและความใส่ใจที่มีทำให้ผลออกมาประทับใจจนน้ำตาไหล คือเรียกว่าฟันฝ่าอุปสรรคกันทั้งครูปอยและนักเรียนคนนั้น ประทับใจที่ทำให้จอร์จเข้าสังคมได้และร้องเพลงได้เพื่อนๆ ให้การยอมรับทำให้จอร์จมีความสุขมากขึ้นจากที่ร้องเพี้ยนจนครูปอยไมเกรนขึ้น ทุกครั้งที่สอนจอร์จ ถึงขนาดว่าพอจบคอร์สที่ 1 ภาวนาในใจว่าอย่าต่อคอร์สเลยนะจอร์จ











แต่ต่อคอร์สค่ะ เราเลยคุยกับจอร์จว่าตั้งใจแน่นะถ้าตั้งใจแบบนี้เราก็มาสู้ไปด้วยกันบอกตรงๆ ครูปอยเครียดทุกครั้งที่ได้ยินเสียงเพี้ยนทั้งชั่วโมง ทั้งเพี้ยน คร่อม และ ภาษาตะกุกตะกัก ติดขัดตลอด เป็นเคสที่ยากมากที่สุดในชีวิตที่เคยสอน แต่ในที่สุดก็ผ่านได้ด้วยดีแม้จะเหนื่อยแต่ก็คุ้มทั้งครูศิษย์และคุณพ่อที่มานั่งรอลูกชายทุกครั้งที่มาเรียน 
บทความที่ 8

ไม่มีความรู้เรื่องทฤษฎีดนตรีเลย อ่านโน๊ตก็ไม่ออกร้องเพลงได้รึเปล่า

 
ได้สิคะ ครูปอยอ่านพอได้ค่ะไม่ได้เก่งมากมายอะไรแต่ในความเป็นจริงไม่ได้ใช้หรอกค่ะ นอกจากเราจะเป็นนักร้องประสานเสียงแบบเป็นคณะ เพราะนักร้องประสานเสียงหรือคอรัสให้ศิลปินก็ไม่จำเป็นต้องอ่านโน๊ตได้นะคะแต่ขอให้แม่นเรียกว่าหูเทพ ทักษะการร้องเพลงดีก็สามารถทำงานประสานเสียงได้ 





แต่น้องๆที่อยากร้องเพลงได้ดีไม่ต้องกังวลในข้อนี้เลยว่าอ่านโน๊ตไม่เป็น ทฤษฎีไม่ได้จะร้องเพลงไม่ได้ อันนี้คนละส่วนกันเลยค่ะ การเรียนทฤษฎีก็ใช้ในการสอบเข้านั่นคือเรื่องจริงและต้องศึกษาเพิ่มเติม แต่ถ้าคนทั่วๆไปที่ไม่ได้เรียนทฤษฎีทั้งหลายล่ะร้องได้หรือไม่ ตอบได้เลยว่าได้ และ ได้ดีไม่น้อยไปกว่าคนอ่านโน๊ตได้ ตัวอย่างทีให้เห็นเยอะแยะไปโดยเฉพาะในนักร้องมืออาชีพทั้งหลายตั้งแต่ยุคก่อนหน้านี้จนปัจจุบัน ไม่เช่นนั้นคุณพุ่มพวงดวงจันทร์คงครองใจประชาชนไม่ได้จนปัจจุบันแม้จะจากไปนานแ้ล้ว หรือนักร้องท่านอื่น ๆ ที่ดังระดับโลกก็ร้องเพลงได้จนเป็นเพลงอมตะ แล้วแบบนี้ทำไมคนอ่านโน๊ตไม่ได้ คนไม่รู้ทฤษฎีดนตรีจะร้องเพลงไม่ได้ หรือ ไม่มีทางที่จะประสบความสำเร็จล่ะคะ



ครูปอยอยากจะบอกชัดๆว่าไม่ต้องกังวลว่าอ่านโน้ตไม่ออกก็ร้องเพลงได้นะคะ 
บทความที่ 7


จำเป็นหรือเปล่าที่ต้องเต้นเป็น
 
ก็ดีกว่าเต้นไม่เป็นนะ ไม่ได้กวนนะคะแต่จริง ๆ ค่ะก็มันครบเครื่องกว่านี่นะ ถ้าไม่ได้จริง ๆ ก็ควรจะเต้นรำสนุก ๆ กับเพื่อนได้บ้างไม่ใช่ยืนร้องเพลงเป็นเสาเอกเลยแบบนั้นก็ไม่ไหว เพราะอย่าลืมว่าค่ายเพลงหรือผู้บริโภคย่อมมีสิทธิเลือกที่จะชอบใครมากกว่า



ก็ครูปอยไม่เคยเห็นนักร้องคนไหนยืนเป็นเสาหลักนิ่งๆ ร้องเพลงแล้วดูดีเลยนี่คะ เอาเป็นว่าถ้าหากเต้นสเตปเทพไม่เป็นก็อย่าถึงกับตัวแข็งเป็นหุ่นยนต์ก็พอแล้วค่ะ จะได้ดูดีขึ้นหน่อยเวลาร้องเพลง และหายเขินด้วยนะคะเวลาร้องเพลงแล้วมีอะไรทำมากกว่าถือไมค์แล้วยืนนิ่งเป็นหุ่น พอเราโยกตามจังหวะจะทำให้สนุกขึ้นผ่อนคลายขึ้นไม่เกร็งค่ะ แถมดูดีมีเสน่ห์ด้วย รู้แบบนี้แล้วหัดเต้นไว้หน่อยก็ดีนะคะ  
บทความที่ 6
 
 
การพูดมีส่วนอย่างไรในการทำให้เราร้องเพลงได้ไพเราะมากขึ้น 

 เคยสังเกตุคนที่พูดจาฉะฉานมีน้ำหนักคำที่น่าฟังหรือไม่คะ เช่นพี่เบิร์ด  พี่แอม  หรือ  นักร้องท่านอื่น ๆ สำเนียงการพุดของคนเราเมื่อเราร้องเพลงมันมักจะคล้าย ๆ กับคำพูดสำเนียงของเราใช่ไม๊คะ ลองสังเกตุ การฝึกพูดให้ชัด ให้มีจังหวะจะในการเว้นวรรค แบ่งคำ ให้ดีฝึกพูดให้เราเป็นคนพูดมีเสน่ห์น่าฟังก็สามารถช่วยให้การร้องเพลงของเราไพเราะขึ้นได้นี่เป็นเรื่องจริง  สำเนียงพูดที่ไพเพราะ  ทำให้การร้องเพลงไพเราะขึ้นด้วยค่ะ  น้อง ๆ เคยเล่านิทานไม๊คะ ไม่ใช่อ่านธรรมดานะคะการเล่านิทานต้องใส่อารมณ์ให้รู้สึกว่าเราเป็นตัวละครนั้นจริง ๆ  เช่นบทของแมวจอมเกเร  เจ้าลาน้อยแสนขี้เกียจ   เจ้าเป็ดจอมนักเลง  หรือ  เจ้าไก่ที่ขี้คุยแต่ใจดี  เป็นต้น  ถ้าเราสามารถเข้าถึงอารมณ์ของตัวละครเหล่านี้ได้มันก็ง่ายขึ้นที่เราจะเข้าถึงอารมณ์เพลงนั้น ๆ ได้สนุกดีนะคะหากว่าเราจะลองเล่านิทานให้น้อง ๆหลาน ๆ ฟังให้ติดงอมเลย แต่ต้องหมายถึงเราแม่นโน๊ตและจังหวะใช้เสียงถูกต้องด้วยนะคะไม่ใช่พูดได้ไพเราะดีแล้วแต่โน๊ตเพี้ยน ร้องคร่อมจังหวะนี่ก็ไม่ได้เช่นกัน จริง ๆแล้วการพูดที่เกี่ยวกับการร้องเพลงนี่มีท่านผู้หนึ่งเคยบอกครูปอยไว้นานแล้ว ตอนนั้นเพิ่งเริ่มสอนร้องเพลง และสอนที่นั่นเป็นที่แรกคือ  Middel C   ของพี่ตุ้มผุสชา โทณะวนิก  พี่ตุ้มเคยให้ความรู้ในเรื่องสำเนียงการพูด และ การอ่านนิทานด้ว


  
 
การอ่านนิทานมีส่วนช่วยให้การร้องเพลงดีขึ้นได้อย่างไร   เผอิญว่าตอนเด็ก ๆ ครูปอยเองก็ชอบเล่นละครคนเดียวในห้องนอน เป็นคนมีจินตนาการค่อนข้างสูง พูดคนเดียวได้ทั้งวัน ทุกวันจะต้องเอาหนังสือพิมพ์ขึ้นมาอ่าน แต่อ่านละครทีวีทุกเรื่อง ครูปอยก็สมตติตัวเองว่าเป็นตัวละครนั้น ๆ  เล่นทุกบทไม่ว่าจะเป็นเด็กคนแก่ หรือ นางเอก พระเอก นางร้าย อยู่อย่างนั้นไม่ยอมลงไปทานข้าวเพราะกำลังสนุก ชอบแต่งตัวเป็นคนนั้นเป็นคนนี้เหมือนเด็ก ๆ ทั่ว ๆ ไปกระมังเพราะไม่ทราบว่าคนอื่นชอบเล่นแบบนี้รึเปล่า และเมื่อมาทำงานกับพี่ตุ้มผุสชาฯ  มีโอกาสได้นั่งคุยกับพี่ตุ้มและพี่ตุ้มเองก็แนะนำเกร็ดเล็กน้อยในการร้องเพลง  การพูด   และ  การเล่านิทานมีส่วนช่วยให้เพลงไพเราะขึ้น  ภาษา ทำให้คำแต่ละคำแต่ละประโยคมีความชัดเจนมีช่องไฟ เน้นหนักเบาได้พอดี ส่วนการอ่านนิทาน มีส่วนช่วยเรื่องของอารมณ์เพลงที่เราต้องเข้าถึง  ตีบทแตก ตีความหมายได้ดี ก็เลยนำมาบันทึกเป็นบทความเผื่อจะเป็นประโยชน์ต่อน้อง ๆ ที่สนใจการร้องเพลงค่ะ





บทความที่ 5
 
อายุมากแล้วเรียนร้องเพลงได้หรือไม่  
จริงๆ  แล้วเส้นเสียงของคนเราจะแข็งแรงสมบูรณ์สุดคืออายุ 30  ถ้าหากเราใช้เสียงอย่างถูกวิธีเสียงก็จะไพเราะจนเข้าสู่วัยชราร้องยังไงก็เพราะ  ใช้งานได้นาน ส่วนมากคนที่เสียงเสียแล้วจะแก้ไขได้ยากจึงควรที่จะถนอมหรือใช้เสียงให้ถูกวิธีเมื่อต้องร้องเพลงหรือแม้กระทั่งอย่าตะโกนโดยไม่จำเป็นเพราะถ้าเราชอบร้องเพลงแน่นอน  ถ้าตะโกนบ่อยๆ  หรือกรี๊ดในคอนเสริตบ่อยๆ  หรือกระทั่งการพูดเบา ๆ กระซิบจนติดนิสัยเหล่านี้ล้วนแต่ทำให้เส้นเสียงเริ่มมีปัญหาคือ เสียงแหบ เสียงแตก  เสียงหายคือไม่มีเสียงเลย  พูดแล้วเหนื่อย  เป็นต้น 
 





คำตอบจึงมีอยู่ว่าเรียนได้ค่ะแต่...จะแก้ไขยากกว่าวัยรุ่นหรือวัยทำงาน ครูปอยเคยสอนท่านหนึ่งอายุ 48 ปีเสียงไม่มีเลยค่ะแหบแห้งและร้องเพลงก็เหนื่อยหอบง่าย ๆ  เป็นอาการทางกายภาพ  ส่วนทักษะการร้องเพลง  ไม่มีเลยเรียกว่าตลอดชีวิตที่ผ่านมาไม่เคยร้องเพลงเลย จำโน๊ตเพลงไม่ได้  จังหวะค่อม  เสียงไม่มี  เรียกว่าอาการก็หนักหนาเอาการ เรียน 4 คอร์สร้องเพลงออกงานได้ก็มีความสุข  แทนที่จะได้นั่งเฝ้าโต๊ะอยู่คนเดียว ไม่มั่นใจ ไม่กล้า อาย สั่น ปัจจุบันได้ไปร้องเพลงกับเพื่อน ๆ อย่างน้อยที่สุดในชีวิตก็ได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำได้เลย  ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีและภาคภูมิใจสำหรับทั้งครูและผู้เรียนค่ะ  แต่คงมีไม่มากที่จะมีวัย 50 up มาเรียนร้องเพลงลำพังเดินทางไปไหนมาไหนก็เบื่อแล้วอยากนั่ง ๆ นอน ๆ สบาย ๆ มากกว่า  แต่สมัยนี้คนเราแก่ช้าลง  ทำให้มีโอกาสสนุกกับชีวิตได้ยืนยาวขึ้น   ร้องเพลงกันเถิดจะสุขใจ  
 
  
บทความที่ 4
 
 
คุณสมบัติของการเป็นนักร้องอาชีพ หรือ ศิลปิน 

หลาย ๆ คนมีความฝันว่า สักครั้งหนึ่งในชีวิตก็อยากจะออกเทปกับเขาบ้างนั่นจะเป็นความภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต ครูปอยเองก็เคยคิดฝันไว้เหมือนกันแต่ เราคงเหมาะกับการเป็นครูกระมัง  และโชคดีของการได้เป็นครูสอนร้องเพลงในค่ายเทปที่แกรมมี่  ทำให้ได้รู้ว่าคุณสมบัติที่ทางแกรมมี่ต้องการมีอะไรบ้าง เข้าใจว่าโปรดิวเซอร์ชอบสไตล์นักร้องที่จะมาร่วมงานประมาณไหน  และก่อนที่จะมาเป็นครูก็ได้ทำงานกับโปรดิวเซอร์หลายท่านแทบจะทุกค่ายก็ว่าได้ ไม่เว้นกระทั่งค่ายเพลงลูกทุ่ง  ร้องคอรัสให้หมดทุกค่ายเพราะสมัยก่อนนักร้องคอรัสมีไม่มากนัก  มีไม่เกิน 10 คนที่โปรดิวเซอร์จะชอบเรียกใช้เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานคอรัสทั้งในห้องบันทึกเสียงและบนเวทีคอนเสริต  หรือ การเป็นครูล้วนแต่ทำให้ครูปอยเองพอจะนึกแทนโปรดิวเซอร์ได้ถึงคุณสมบัติที่อยากได้มาเป็นนักร้องออกอัลบั้ม

ข้อแรก   แน่นอนที่สุดต้องร้องเพลงได้ไพเราะ   ได้ดี  ไม่เพี้ยน  จังหวะดี  ฟิลลิ่งเลิศ  เนื้อเสียงไพเราะ   นี่ก็ได้แต้มมาเกิน 50%  แล้ว








 
ข้อสอง   นอกเหนือจากคุณสมบัติข้อแรกแล้ว   เนื้อเสียงไพเราะ  ยังไม่พอเท่านั้น  เสียงที่ไพเราะนั้นต้องมีเอกลักษณ์ ไม่ซ้ำ ไม่เฝือ ไม่เกลื่อน เป็นเช่นนั้นจริง ๆ เพราะเราคงไม่ได้อยากฟังเพลงที่มีนักร้องเสียงเหมือนพี่เบิร์ด  หรือเสียงเหมือนพลพล หรือเสียงเหมือนเจนนิเฟอร์คิ้ม  ก็ที่กล่าวมาก็ไพเราะมากมากและจำได้แม่นแล้ว  เป็นธรรมดาที่ค่ายเพลงหรือโปรดิวเซอร์ก็ย่อมอยากได้นักร้องใหม่ที่มีเสียงมีเอกลักษณ์  โดดเด่น 
 





ข้อสาม   เมื่อได้เสียงที่ไพเราะ มีเอกลักษณ์แล้ว  นักร้องต้องมีเสน่ห์ด้วยนะ  มีเสน่ห์ทั้งสำเนียงการร้อง  มีภาษาที่ร้องเพลงแล้วฟังไพเราะ  ไม่รกหู ไม่ดัดจริตในการร้องเพลงจนไม่ธรรมชาติ  เพราะการร้องเพลงต้องมีจริตสักหน่อยอย่างน้อยสุดก็ต้องฟังแล้วไพเราะกว่าการพูดตามปกติธรรมดา  ข้อนี้เป็นข้อที่ยากมากมากที่จะหาได้ เรียกว่าต้องเฟ้นหา ต้องฟังแล้วฟังอีก บางคนต้องส่งเดโมเพื่อให้ผ่านผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ   นานถึง 5 ปี  3  ปี  หรืออย่างน้อยสุดก็ 1 ปีซึ่งหายากมากที่จะผ่านได้รวดเร็วใน 1 ปี


 
 
ข้อสี่      ความอดทนในการทำงาน  ต้องอดทนสูงมากเพราะจะต้องถูกตำหนิ ถูกแก้ไขงาน  ให้ร้องใหม่ ๆ บันทึกซ้ำแล้วซ้ำอีกจนจะเป็นที่พอใจ บางเพลง 3 วันยังบันทึกเสียงไม่เสร็จ หรือ ถึงจะเสร็จแล้วแต่ก็ยังต้องการเพิ่มหรือแก้ไขอีก   ถ้าเรียกมาทดสอบแล้วว่าที่ศิลปินออกอาการงอแงไม่อยากแก้ไขงานของตนเองให้ดี  คะแนนนิยมหรือความชื่นชอบก็จะลดทอนลงไป  นอกเสียจากว่า ว่าที่นักร้องนั้นจะโดดเด่นมากจนหาใครมาเทียบไม่ได้เลย ก็ยังพอจะกล้อมแกล้มรับได้ แต่คงจะอยู่ในสายตาอย่างใกล้ชิด เพื่อดูว่า  ว่าที่ศิลปินคนนี้จะสามารถร่วมงานกับคนอื่นได้หรือไม่ จะมีปัญหาภายหลังหรือไม่ เรียกง่าย ๆ ว่าเหลิงหรือลืมตัวนั่นเอง  แต่ถ้าตรงกันข้ามว่าที่ศิลปินนั้นตั้งใจทำงานและรับผิดชอบไม่เกี่ยงไม่อู้ รับได้ต่อคำตำหนิจากผู้ใหญ่   ก็เตรียมตัวรุ่งเรืองได้เลยเพราะทุกคนก็จะดูแลและหางานให้เป็นอย่างดี





 



 
ข้อห้า     บุคลิกภาพ  สมัยก่อนนี้ประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมา  look  หรือบุคลิกภาพความสวยความหล่อมักจะมาเป็นอันดับแรก ๆ ยุคนั้นเป็นยุคของลูกกวาดคนฟังชอบความสวยงามเป็นหลักแต่ปัจจุบันรสนิยมของผู้ฟังเปลี่ยนไปเยอะ  และ  นักร้องที่มีฝีมือนำหน้าตา  ได้รับการยอมรับมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่า  ไม่เหลือคุณบัติข้อนี้ที่มีส่วนในการตัดสินใจของค่ายเทปหรือโปรดิวเซอร์เลยนะคะ   ก็ยังคงต้องการแต่ก็ไม่ได้เอามาเป็นข้อเด่นที่เป็นอันดับแรก  อย่างน้อยสุดถ้าหากไม่สวยไม่หล่อระดับดาราแล้ว  ก็ต้องมีแคแรคเตอร์ที่จำได้ง่าย  ติดตาติดใจ  มีเสน่ห์  เช่น  ยิ้มสวยยิ้มแล้วโลกสว่างไสว เช่น ไอซ์ ศรัญญู แถมเสียงก็มีเอกลักษณ์ เต้นก็เก่ง พูดก็เก่งกล้าแสดงออก   หรือ ตัวเล็กมากแต่เสียงมีพลังเหลือล้น บวกกับหน้าตาเก๋ไก๋  บุคลิกภาพมั่นใจ  แบบดา เอนโดรฟิน   หรืออ้วนมากทั้งอ้วนและดำ หล่อก็ไม่หล่อแต่ความอ้วนของเขากลับน่ารักเพราะเป็นคนฉลาดและรู้จักพูดอารมณ์ดี  คารมดี  เสียงเพราะมากมาก เช่น ป๊อบแคลอรี่บราบรา 
หรือ  ผอมมาก ดำ มาก หน้าไม่ได้หล่อมากมาย ตัวไม่ได้สูงเท่ห์ เห็นแต่ฟันขาว ๆ เวลายิ้ม แต่เสียงแหบนิด ๆ  สำเนียงแบบจริงใจ  ชัดมากมากการร้องมีพลัง เสียงสูง  เวลาแสดงสดก็ร้องได้ดีเล่นได้ดี  เช่นหนุ่ม วงกะลา  หรือ   อ้วนอีกคน ดำอีกต่างหาก สูง ไม่หล่อ แต่อบอุ่นใจดี น่ารักเวลายิ้ม และจริงใจรับผิดชอบงาน ตั้งใจทำงาน ใครอยู่ใกล้ก็รักก็ชอบอัธยาศัย  แบบ พลพล 





 
 
จะเห็นว่าที่ยกตัวอย่างหน้าตาดีแต่ก็ต้องมีองค์ประกอบอื่น ๆ อีกที่หนุนให้เด่น   หรือหน้าตาไม่ได้สวยหล่อแต่ก็มีข้อเด่นมาหักกลบลบข้อด้อยจนแฟนเพลงไม่รู้สึกถึงข้อด้อยเลย  ด้อยกลับเป็นเด่นนี่คือการมองหาศิลปินที่อยากเล่าให้ได้รับทราบค่ะ อีกทั้งยังรวมถึงนิสัยการทำงานที่ไม่เหลิง ไม่หลงตัว ไม่ข่มคนอื่น มีระเบียบวินัย ก็เป็นคุณสมบัติอีกข้อที่ค่ายเทปไม่ว่าจะค่ายไหนก็อยากได้คนแบบนี้ไปร่วมงาน 
บทความที่  3

เราควรใส่ฟิลลิ่ง  หรืออารมณ์เพลงมากน้อยแค่ไหน  
เรื่องนี้อธิบายยากเหมือนกัน  มันเป็นความรู้สึกของผู้ร้องเพลงนั้น ๆ ทั้งตอนที่เริ่มฟังต้นฉบับ หรือ เริ่มทำงานเพลงนั้นใหม่ๆ แบบไม่เคยฟังมาก่อนเลยก็ล้วนแต่ต้องอาศัยความเข้าใจจากผู้ที่จะร้องเพลงนั้น ๆ เอง  ก่อนอื่นเราควรจะอ่านเนื้อเพลงให้จบสักสองสามเที่ยวแล้วสรุปให้เหลือไม่เกิน 2 บรรทัดว่า  เพลง ๆ นั้นมีใจความอย่างไรเขาแต่งขึ้นมาเพื่อบอกอะไรแก่ผู้ฟัง   นั่นคือเราต้องหัดตีความหมายให้เข้าใจเสียก่อน  ส่วนใหญ่พอได้ยินก็ร้องตามเลย  แบบพอจำได้ พอจำได้ทั้งเนื้อเพลง และ ทำนองเพลง ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิดนะก็ทำได้ค่ะ  ถ้าเราไม่ได้จริงจังที่จะต้องทำงานทำได้












  แต่หลายคนที่ต้องทำงานหรือต้องประกวดร้องเพลง  จะต้องใส่ใจรายละเอียดมากขึ้นกว่าที่จะร้องสนุก ๆ ร้องเล่น ๆ ร้องเพลิน ๆ เพราะเขาต้องเสนองานให้ผ่านประกวดให้เข้ารอบ  พอรู้แบบนี้แล้ว เราก็น่าจะคิดต่ออีกสักนิดว่า  แล้วทำไมเราไม่ทำให้การร้องเพลงดูมีอะไรที่น่าสนใจมากกว่าที่เราเคยร้องเล่น ๆ ล่ะคะ  เพราะมันน่าจะไพเราะมากกว่าเดิมเยอะ  เมื่อเราใส่ใจให้เข้าถึงเพลงย่อมทำให้เราได้เสพความสุขจากการฟังและการร้อง  สนุกกับการได้พัฒนาการร้องเพลง  ทำให้เราเพลิดเพลินและคนฟังเราก็เพลิดเพลิน และตัวเราเองก็ภูมิใจที่ทำได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยแม้จะไม่ได้เก่งแบบมืออาชีพ  แต่ก็ใกล้เคียงล่ะ    
  
บทความบทที่ 2
 
อยากมีลูกคอทำยังไง
ลูกคอหรือเสียงสั่นๆ เวลาเราทอดเสียงยาว ๆ ใคร ๆ ก็อยากมีเพราะฟังแล้วเก่งดี เรียกภาษาวัยรุ่นหน่อยเขาเรียกขั้นเทพ สำหรับครูปอยเองไม่เคยฝึกค่ะ แต่มันมีมาเอง
ถามว่าจำเป็นหรือเปล่า มันไม่ได้กำหนดไว้หรือบัญญัติไว้ว่าต้องมีเมื่อร้องเพลง เพราะจริง ๆ แล้วสิ่งที่ยากกว่าการทำให้เสียงสั่นหรือมีลูกคอคือ  การลากเสียงให้นิ่งต่างหาก หลายคนคิดว่าการทำให้เสียงสั่นยากกว่าแต่แท้จริงแล้วกลับตรงกันข้าม




บางทีลูกคอก็พาให้เราร้องเพลงเพี้ยนโดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ เพราะมัวแต่ตั้งใจสั่นเสียงให้เป็นลูกคอเป็นชั้น ๆ จนลืมฟังตัวเองว่าร้องเพี้ยนต่ำนิด ๆ และฟังแล้วไพเราะรึเปล่า มีมากเกินไปไม๊เพราะส่วนใหญ่คนที่ร้องเพลงมีลูกคอเยอะ ๆ หมายถึงเยอะและตั้งใจมากจนเกินไปมักจะร้องเพลงเพี้ยนต่ำนิด ๆ ตลอดเพลงและฟังแล้วรุ่นใหญ่ด้วย ถ้าเราอยากฟังแล้วดูรุ่นใหญ่ก็ทำไปค่ะแต่ถ้าไม่อยากก็ลดลงมาหน่อยจะได้ฟังว่าเรารุ่นเด็กลงมาหน่อย 
 
เพราะฉะนั้นครูปอยไม่เคยสอนลูกศิษย์ให้ทำลูกคอเลยค่ะแต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปเมื่อเสียงร้องคงที่และมีคุณภาพแล้ว สามารถควบคุมได้ดีควบคุมทุกอย่างทั้งโน๊ต หนักเบา และ จังหวะ ลูกคอที่ไพเราะจะมาเอง ชนิดที่ว่าเราไม่รู้ตัวและไพเราะซะด้วยสิ จำได้ว่า ตอนที่เข้าไปทำงานคอรัสโปรดิวเซอร์หลายท่านบอกว่า ลูกคอเยอะไปนะลดลงหน่อย ตอนนั้นไม่รู้ตัวเองเลยว่าเรามีลูกคอเยอะ มันคงสั่นมากและพาให้เพี้ยนจนโปรดิวเซอร์ต้องขอให้ลดลง และต้องอัดมาฟังถึงได้ยินว่าจริง ช่วงแรก ๆ ที่ทำงานประสานเสียงครูปอยเองฟังไม่ออกด้วยซ้ำว่าเราเพี้ยนเพี้ยนยังไง ลูกคอ รกรกยังไง ลูกคอพาให้เพี้ยนเป็นไงนะ ต้องฟังบ่อย ๆ และโดนจับผิดจากโปรดิวเซอร์เยอะ ๆ ถึงจะสังเกตุตัวเองได้ ต่อมาเราก็สามารถแก้ไขจุดบกพร่องนั้น ๆ ได้ด้วยการฟังเอง เช็คเองและแก้ไขได้เองค่ะ การที่เราฟังตัวเองร้องมักจะได้ยินไม่หมดนะนอกจากจะอัดมาฟัง แต่บางทีอัดมาฟังแล้วก็ยังคิดไม่ออกอยู่ดีว่ามีอะไรบกพร่องบ้างก็ต้องให้ผู้ชำนาญช่วยฟังและวิจารณ์ค่ะ
  

บทความที่ 1 เรียนร้องเพลงนานแค่ไหนจะได้ผล


คำตอบถ้าตอบจริง ๆ ก็จะเหมือนกำปั้นทุบดิน  ขึ้นกับความพอใจของผู้เรียนค่ะบางคนไม่ได้ต้องการผลที่เลิศเลอมากนักก็จะเรียนไม่นานก็หยุดบางคนเรียนตามแฟชั่นเรียนตามเพื่อน  บ้างก็เรียนเพราะคิดว่ามันง่ายไม่น่าจะยากลองดูซิ  เรียนเพราะพ่อแม่บังคับ แบบนี้จะเรียนไปก็ไม่ฝึกซ้อมไม่ขยันเรียนไปงั้นและเบื่อเร็ว   แต่บางคนหวังผลที่ค่อนข้างจะอยู่ในขั้นดีเรียกว่าอยากเรียนให้ละเอียดก็ใช้เวลาเป็นปี  จริง ๆ แล้วการเรียนรู้ไม่มีสิ้นสุดค่ะ  ก็เหมือน ๆ กับวิชาอื่น ๆ มีปริญญาตรี โท เอก  อาจารย์ที่มีชื่อเสียงหลายท่านเรียนจบปริญญาเอกแล้ว ก็ยังหมั่นฝึกซ้อมเพราะนั่นคือความรักต่อการเรียนรู้  น้อง ๆ รุ่นใหม่ ๆ ส่วนใหญ่มักจะคิดว่าเรียนทำไมมากมาย หรือเรียนเมื่อไหร่ก็ได้ เรียนสักสองเดือนก็น่าจะโอเคแล้ว  หรือ เดือนหน้าจะไปประกวดร้องเพลงไปเรียนสักหน่อย


  




ครูปอยเองก็เคยคิดค่ะไม่แปลกใจเลยว่าทำไมคิดแบบนั้น  เพราะก่อนหน้าที่จะเรียนร้องเพลงก็จัดว่าเป็นคนที่ร้องเพลงแล้วมีคนชมตลอดมาว่าร้องเพลงเพราะ  เสียงเพราะ  ก็คิดว่าทำไมจะต้องเรียนให้เปลืองเงิน  พอนึกย้อนกลับไปตอนนั้นที่ร้องเพลงกับวงดนตรีของโรงเรียน ครูปอยจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าร้องเป็นไงบ้าง  รู้แต่ว่ามีคนปรบมือให้ พอผ่านมาหลายปีมีโอกาสเดินทางเข้ามาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ  แล้่วก็ได้เข้ามาทำงานประสานเสียงให้กับศิลปินในค่ายต่าง ๆ หลายค่ายเรียกว่าทุกค่ายก็ว่าได้  เมื่อได้เข้ามาทำงานแล้วก็พบว่า การร้องของเราต้องปรับปรุงมากมาย  เพี้ยนนั้นนิดเพี้ยนนี่หน่อยร้องเพลงแข็งทื่อไร้อารมณ์  ภาษาไม่ชัด  จังหวะไม่เป๊ะจังหวะไม่โยน ร้องเพลงยานคาง ร้องเพลงอารมณ์เดียว ประสานเสียงไม่แม่นยำเท่าที่โปรดิวเซอร์ต้องการ ล้วนแต่เป็นปัญหาที่ครูปอยไม่เคยรู้เลยว่าเป็นปัญหา จนกระทั่งมีโปรดิวเซอร์บอกและติติงมา



และครูปอยโชคดีที่ได้รับความเมตตาจากผู้ใหญ่ตลอดมาเลยมีโอกาสได้ฝึกฝน ได้ทำงานต่อไปอาจจะเพราะมีเนื้อเสียงที่โปรดิวเซอร์ชอบก็ได้ ทำให้มีงานตลอดและครูปอยเองก็ไม่เคยย่อท้อ  ( แม้จะเคยแอบดื้อนิดหน่อยว่า เราก็ว่าเราร้องดีแล้วนะ )  เพราะทักษะต่างๆ  ฝึกฝนได้ค่ะ  และในที่สุดก็ได้คำตอบว่า คำว่าการเรียนรู้ไม่มีคำว่าสิ้นสุดหรือสายเกินไป  เวลาไม่ได้กำหนดการเรียนรู้แต่เวลาคือการมองไปในอนาคตเดินต่อไปและทำต่อไปขึ้นกับใจเราเองว่าอยากจะหยุด ณ จุดใด  และผลตอบแทนกลับมาคุ้มค่ามาก ครูปอยเรียนรู้หลายปี อดทนและเหนื่อยกับการที่ต้องอดหลับอดนอน กับการเดินทางไปเรียน กับการถูกติเหนื่อยจนน้ำตาซึม จากวันนั้นจนวันนี้เป็นเวลานับ 10 ปี  แต่มันก็คุ้มค่ากับการเดินทางเพื่อแลกกับการเรียนรู้และประสบการณ์ที่มีค่า








เพราะฉะนั้นสำหรับน้องๆ ที่มาลงเรียนก็ต้องลองพิจารณาตัวเราเองว่าเรามีคุณสมบัติติดตัวมาเท่าไหร่ จะเรียนให้ได้รับผลอย่างไรกลับไปบ้าง ควรจะมีเป้าหมายที่ชัดเจนอย่างเช่นเราตั้งโจทย์ไว้ว่า เราอยากร้องเพลงให้ได้อย่างรัดเกล้า อมรดิษฐ์  หรือ เจนนิเฟอร์ คิ้ม หรืออยากร้องเพลงเสียงสูง ๆ ได้ดีเหมือนเบน ชลาทิศ  อยากร้องเพลงสนุก ๆ ได้ดีแบบ ไอซ์ ศรัญญู หรือเสียงกลม ๆลอยแบบ ป๊อบแคลอรี่ บราบรา อยากร้องเพลงอกหักให้ไพเราะเพราะพริ้งแบบออฟ ปองศักดิ์  อยากมีเสียงเก๋ ๆ เก่ง ๆ แบบเป๊ก ผลิตโชค  เราก็ควรจะทำให้ได้ทำให้ถึงคือพยายามตอบโจทย์ตัวเองให้ได้ซะก่อน  เพลงสากลเราอยากร้องได้แบบใคร แล้วก็ทำให้เต็มที่



เราก็ควรจะตอบโจทย์นั้นให้ได้แล้วก็หมั่นฝึกซ้อมสม่ำเสมอไม่ใช่เรียนแล้วก็ทิ้งไป เพราะการเรียนใดใดก็ตามถ้าไม่ใช้เป็นประจำก็จะลืมและการร้องอาจจะดรอปลงไปได้ค่ะ  
เมื่อเราตอบโจทย์ของเราได้นั่นคือเราได้เรียนจบไป 1 บทเรียนแล้ว ส่วนโจทย์ใหม่จะมีอีกหรือไม่ขึ้นกับผู้เรียนเองค่ะ
การเรียนการสอนที่นี่จะเน้นตั้งแต่พื้นฐานการร้องเพลงที่ถูกต้อง การร้องเพลงได้ฟิลลิ่งสื่อความหมายได้ถูกต้องและน่าฟัง  
การร้องเพลงให้ไพเราะทำอย่างไรประกอบด้วยอะไรบ้าง โดยครูปอยจะอำนวยการสอนอย่างใกล้ชิด



หรือว่าเราอยากปรับปรุงพัฒนาบุคลิกภาพความเชื่อมั่นเมื่อต้้องขึ้นร้องเพลงบนเวทีด้วย  ทางสตูดิโอก็กำลังจะจัดคอร์ส Acting มาเพื่อให้น้อง ๆ ได้เรียนการแสดงเพื่อการร้องเพลงการตีความหมายของบทเพลง การสื่ออารมณ์ การพัฒนาบุคลิกภาพ หรือจะเรียนการแสดงเพื่อเป็นนักแสดงทางเราก็กำลังจะเปิดสอนเช่นกัน